วันอังคารที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2559

การแป๋งขวัญ

ความเชื่อและพิธีแป๋งขวัญของชาวไทยภาคเหนือ

           คนไทยในสังคมภาคเหนือสืบต่อความเชื่อเรื่องขวัญมาช้านาน ทั้งชาวไทยใหญ่ ไทยลื้อ ไทยเขิน และชาวไทยภาคเหนือตอนล่างมีความเชื่อว่า ขวัญเป็นสิ่งที่อยู่ในร่างกายทุกคน
ขวัญมีลักษณะเบา เคลื่อนไหวได้ ไม่อาจเห็นเป็นรูปเป็นร่างได้ ขวัญแฝงอยู่ในคน สัตว์และสิ่งของ เมื่อใดที่ขวัญอ่อนลงหรือหย่อนจะทำให้สภาวะของร่างกายและจิตใจของเจ้าของขวัญ
จะรู้สึกเสียใจ ตกใจ ท้อใจ เมื่อเจ้าของขวัญมีขวัญดีจะรู้สึกสุขสบายใจและกล้าหาญ มีพลังเต็มเปี่ยม ชาวล้านนาเรียก “ขวัญอยู่กับเนื้อกับตัว” นอกจากนี้ชาวล้านนามีคำเรียกลักษณะขวัญ
ที่อยู่กับเนื้อกับตัวว่า “รู้คิง” หมายถึงอาการของคนที่รู้เรื่อง รู้สึกตัว มีความรู้สึกเข้าใจทุกอย่าง ทุกขณะพูดและทำการใดก็รู้สติ ขวัญเป็นพลังแฝงในจิตใจเป็นนามธรรม ดูแลควบคุมกายจิตใจและวิญญาณให้มีดุลยภาพ ขวัญของชาวล้านนาจัดแบ่งประเภทเหมือนกับคนไทยท้องถิ่นอื่น คือ มีขวัญคน ขวัญพืช ขวัญสัตว์ และขวัญสิ่งของ (บ้านเรือนและ
เครื่องใช้ในการเกษตร) ชาวล้านนามีพิธีกรรมโบราณ เรียกว่า “พิธีฮ้องขวัญ” หมายถึง พิธีเรียกขวัญให้กลับคืนสู่ร่างเดิม พิธีฮ้องขวัญเป็นการผสมผสานระหว่างความเชื่อเรื่องขวัญกับ
ศาสนาพุทธ ศาสนาพราหมณ์ และความเชื่อในอำนาจเหนือธรรมชาติ พิธีฮ้องขวัญจะทำในโอกาสที่ชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงหรือมีเหตุต้องจากบ้านไปไกล มีความเจ็บป่วยและเกิดอุบัติเหตุ
หรือในกรณีที่มีบุคคลสำคัญมาเยี่ยมเยือนบ้านเมือง พิธีกรรมฮ้องขวัญของชาวล้านนามักปฏิบัติร่วมกับพิธีกรรมสะเดาะเคราะห์ (ส่งเคราะห์) และพิธีสืบชะตา โดยจะมีปฏิบัติต่อเนื่องกัน โดยเริ่มจากการสะเดาะเคราะห์ การสืบชะตาและการเรียกขวัญ


           พิธีฮ้องขวัญ ยังคงปฏิบัติกันอยู่ในสังคมล้านนา ทั้งชนเผ่าชาวไทยล้านนาและชาวเหนือตอนล่าง มีบทบาทเป็นพิธีกรรมแสดงความสัมพันธ์ระหว่างคนในสังคม สร้างเสริมกำลังใจและขัดเกลาจริยธรรมและพฤติกรรมคนในสังคม พิธีเรียกขวัญหรือพิธีทำขวัญของชาวเหนือมีหลายลักษณะ ได้แก่ การเรียกขวัญเด็ก (การทำขวัญ) ขวัญลูกแก้ว (นาค)
ขวัญนาค ขวัญสามเณร ขวัญผู้ป่วย ขวัญบ่าวสาว ขวัญผู้ที่จะเดินทางไกล ขวัญผู้ที่มาเยือน ขวัญผู้ใหญ่บ้านและอาจารย์วัด ขวัญข้าว ขวัญช้าง ขวัญวัวควาย ขวัญเรือน ขวัญเสา
ผู้ที่เข้าร่วมพิธีเรียกขวัญมี หมอขวัญเจ้าของขวัญญาติพี่น้องที่เข้าร่วมพิธีเรียกขวัญ อุปกรณ์ประกอบพิธีกรรมมีเครื่องบายศรี (ทำจากใบตองและดอกไม้ที่มีกลิ่นหอม ประดิษฐ์เป็นชั้นสวยงาม)
ไข่ต้ม ข้าว กล้วย น้ำ ใบพลู หมากเมี่ยง บุหรี่ ด้ายดิบและด้ายผูกข้อมือ


           ขั้นตอนของพิธีกรรมฮ้องขวัญ คือ การเตรียมสถานที่และอุปกรณ์ที่ใช้ในพิธีกรรม พร้อมกับเชิญหมอขวัญมาทำพิธีตามฤกษ์ยามที่กำหนดไว้ในช่วงพิธี หมอขวัญจะทำพิธีเรียกขวัญ โดยเริ่มจากกล่าวคำอัญเชิญเทวดา บทเรียกขวัญ (เป็นสำนวนเก่าหรือสำนวนแต่งขึ้นโดยปฏิภาณในช่วงทำพิธีก็ได้) ช่วงเรียกขวัญจะทำพิธีเสี่ยงทายว่าขวัญมาแล้วหรือยัง จากนั้นหมอขวัญจะเอาน้ำมนต์มาพรมให้เจ้าของขวัญพร้อมทั้งอวยพรให้อยู่เย็นเป็นสุข และใช้ด้ายสายสิญจน์มามัดมือซ้ายของเจ้าของขวัญเพื่อให้ขวัญมา และมัดมือขวาเพื่อให้ขวัญอยู่กับเนื้อกับตัว จากนั้นผู้ที่มาร่วมงานก็จะร่วมรับประทานอาหารและเจ้าของขวัญร่วมทานอาหารและทานไข่ต้มที่ประกอบพิธี จากนั้นญาติจะนำเครื่องบายศรีไปวางไว้ที่หัวนอนของเจ้าของขวัญโดยคำเรียกขวัญจะมี เนื้อความที่แตกต่างกันไปตามประเภทของพิธีกรรม


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ขอขอบพระคุณที่กรุณาแสดงความคิดเห็น