วันจันทร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2559

ประเพณีการตานก๋วยฉลาก

ความเป็นมา / ความสำคัญของภูมิปัญญา

          ประเพณีการถวายทานสลากภัตในล้านนาไทย  มีเรียกชื่อตามท้องถิ่นแตกต่างกันออกไป  ชาวอำเภอเชียงกลาง จังหวัดน่าน เรียกว่า " ตานก๋วยสลาก "  หรือ  “ ตานสลาก “ แต่ในความหมายเป็นอย่างเดียวกัน สำหรับวิธีการทำก็มีความแตกต่างกันออกไปตามท้องถิ่นนั้น ๆ  


          สลากภัต คือ ภัตตาหารทุกชนิดที่พุทธศาสนิกชน ทายก ทายิกานำมาถวายแด่พระสงฆ์สามเณรตามสลาก ถือเป็นสังฆทานชนิดหนึ่งที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตไว้ ในสมัยครั้งพุทธกาล สามารถถวายได้โดยไม่มีกำหนดกาลและไม่กำหนดของที่จะถวาย ที่ไม่ขัดต่อพระธรรมพระวินัยสงฆ์แต่สำหรับในประเทศไทยนิยมใช้ผลไม้ต่าง ๆ ที่มีตามฤดูกาล พร้อมเป็นการถวายภัตตาหารไปด้วย ดังนั้นกาลที่กำหนดในการถวายสลากภัตในประเทศไทยก็คือฤดูที่ผลไม้เริ่มให้ผลผลิต เช่นส้มเกลี้ยง ส้มโอ หรือผลหมากรากไม้โดยทั่ว ๆ ไป ซึ่งส่วนมากจะมีประมาณในเดือน 6 - 7  ก่อนเข้าพรรษา สำหรับล้านนา  หรือภาคเหนือนิยมถวายทานช่วงก่อนออก-พรรษาเป็นต้นไป  โดยจะให้วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดน่าน ถวายเสร็จก่อนหมู่บ้านต่าง ๆ  จึงจะถวายทาน
         ประเพณีการถวายทานสลากภัตเกิดจากความเคารพนับถือในพระรัตนตรัยของหมู่ชาวพุทธ เมื่อผลผลิตทางการเกษตรใด ๆ  เริ่มมีขึ้น ส่วนที่เลิศที่สุดก็คือส่วนที่ยังไม่มีใครถือเอา จะถูกนำมาถวายแก่พระภิกษุสามเณร ซึ่งตามความเชื่อถือว่าเป็นการถวายที่เลิศที่สุด  เช่นเดียวกับการใส่บาตรที่นิยมนำข้าวปากหม้อ (ข้าวที่ยังไม่มีใครตักกิน หรือข้าวหม่า) มาถวายแก่พระภิกษุสามเณรก่อน เป็นต้น คุณค่าที่เกิดขึ้นจากการถวายทานสลากภัต เป็นการถวายทานที่ไม่เฉพาะเจาะจงรูปใดรูปหนึ่งแล้ว นอกจากจะแสดงถึงความเคารพศรัทธา ยกย่องของพระภิกษุสามเณรแล้ว คุณค่าที่มีอีกประการหนึ่งก็คือ ความสามัคคีของหมู่คณะ เพราะการถวายสลากภัตนั้นจะต้องอาศัยความร่วมมือจากหลาย ๆ บ้าน รวมกันนำผลไม้ของตนมาจัดถวาย จึงจัดเป็นทานสามัคคีประการหนึ่ง
         ประการที่สำคัญสุดก็คือ  เป็นการถวายทานเรียกว่า  “ ทานข้าวสังส์ดิบ “  จะนิยมนำผลไม้ทุกชนิด ขิงข่า ตระไคร้ พริก เกลือ กล้วย อ้อย หรือนำของที่บริโภคในชีวิตประจำวันนำมาใส่ชะลอมแล้วนำมาถวายแก่สงฆ์ถือว่าเมื่ออุทิศถวายแล้วจะเป็นปัจจัยแด่ภูติ ผี ปีศาจ ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วได้พ้นทุกข์
                    
ประวัติความเป็นมาของสลากภัต 
ในสมัยครั้งพุทธกาล พระพุทธเจ้าประทับ ณ พระเชตวันมหาวิหารนั้น วันหนึ่งนางกุมารีผู้หนึ่งได้อุ้มลูกชายวิ่งหนีนางยักขินีผู้มีเวรต่อกันหลายชาติแล้ว ติดตามมาจะทำร้ายลูกของนาง นางเห็นจวนตัวจะวิ่งหนีไปที่อื่นก็ไม่ทัน จึงพาลูกวิ่งเข้าไปยังเชตวันมหาวิหาร เข้าไปในพระวิหารที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมอยู่ นางเอาลูกน้อยวางแทบพระบาทของพระพุทธเจ้าแล้วกราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอจงโปรดเป็นที่พึ่งของลูกชายหม่อมฉันด้วยเถิดพระเจ้าข้า" พระพุทธเจ้าได้หยุดพฤติกรรมของนางกุมาริกา และนางยักขินีด้วยการตรัสคำสอนว่า  
           " เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร  เวรย่อมไม่ระงับด้วยเวร  ธรรมะนี้เป็นของโบราณ "  แล้วให้นางทั้งสองได้เห็นผิดชอบชั่วดี  นางยักขินีเกิดซึ้งในคำสอน ก็รับศีล 5 แล้วนางก็ร้องไห้สะอึกสะอื้นกราบทูลพระพุทธเจ้าว่า นางไม่รู้จะไปทำมาหากินอะไรเพราะได้รักษาศีลเสียแล้ว นางกุมาริกาก็รับอาสาพานางไปอยู่ด้วย ต่อมานางกุมาริกาก็ได้ให้ความเอาใจใส่ต่อนางยักขินีเป็นอย่างดี เมื่อนางยักขินีได้รับความอุปการะก็นึกอยากจะตอบแทนบุญคุณ จึงเป็นผู้พยากรณ์บอกกล่าวเรื่องอุตุนิยมวิทยา คือบอกให้นางกุมาริกาทำนาในที่ดอนเมื่อถึงปีที่มีฝนมาก ทำนาในที่ลุ่มเวลาที่มีฝนแล้ง  นางกุมาริกาได้ปฏิบัติตามทำให้ฐานะร่ำรวยขึ้นยิ่งกว่าคนอื่น ๆ ในละแวกนั้น คนทั้งหลายมีความสงสัยจึงพากันมาถามนางกุมาริกา ว่ามีสาเหตุความเป็นมาอย่างไร จึงได้รับคำตอบว่านางยักขินีเป็นผู้บอกกล่าวให้ คนทั้งหลายจึงพากันไปหานางยักขินีเพื่อให้นางช่วยบอกให้อย่างเดียวกับนางกุมาริกา      ต่อมา คนทั้งหลายก็ได้รับการอุปาระจากนางยักขินีจนมีฐานะร่ำรวยไปตาม ๆ กัน ด้วยความสำนึกในบุญคุณชาวบ้านจึงพากันเอาเครื่องอุปโภค บริโภค อาหารการกินเครื่องใช้ไม้สอยต่าง ๆ นา นา มาสังเวยเป็นอันมาก 
          ข้าวของในสำนักของนางยักขินีจึงมีจำนวนมากเหลือกินเหลือใช้นางจึงได้นำมาทำเป็นสลากภัต โดยให้พระสงฆ์ได้ทำการจับสลากตามเบอร์ ด้วยหลักของอปโลกนกรรม คือ ของที่ถวายมีทั้งของราคามาก ราคาน้อยแตกต่างกัน การถวายแบบวิธีการจับฉลากของนางยักขินีนี้นับเป็นครั้งแรกแห่งการประเพณีการถวายทานสลากภัต และยึดถือปฏิบัติสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน  

ค่านิยมในการตานก๋วยสลาก

การทำบุญถวายทานสลากภัต หรือ “ตานก๋วยสลาก”  นับเป็นประเพณีที่สำคัญของชาวอำเภอเชียงกลางประการหนึ่ง  เนื่องมาจากค่านิยมที่สืบทอดทำมาแต่โบราณจนกลายเป็นประเพณีสืบมาช้านานคือ ประชาชนว่างจากภารกิจการทำนา ผลไม้ เช่น ส้มโอ ,  ส้มเขียวหวาน,  ส้มเกลี้ยง  กำลังสุก ประชาชนหยุดพักไม่เดินทางไกลเพราะเป็นฤดูฝน พระสงฆ์จำพรรษาอยู่อย่างพร้อมเพรียง ได้โอกาสสงเคราะห์คนยากจนเป็นสังฆทาน ถือว่ามีอานิสงส์แรง  คนทำบุญสลากมักจะมีโชคลาภเสมอมีโอกาสหาเงินและวัสดุบำรุงวัด ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ ชาวอำเภอเชียงกลางจึงนิยมทำบุญ ”ตานก๋วยสลาก” ทำกันมาตั้งแต่วันเพ็ญ( ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ใต้ )   เรื่อยมาจนถึงต้นเดือนเกี๋ยงดับ ( แรม 15 ค่ำ เดือน 11 ใต้ )    ชาวบ้านจะนำพืชผลมาถวายเป็นก๋วยสลาก  นิมนต์พระสงฆ์จากวัดใกล้เคียงมารับไทยทานสลาก  ก๋วยสลากของชาวอำเภอเชียงกลาง  จะประกอบด้วย  สลากสร้อย   คือ  สลากที่นิยมทำด้วยต้นไม้ไผ่ทั้งลำ จะมีเครื่องครัวเรือนครบทุกอย่าง และใส่ปัจจัยที่มากพอสมควร  สลากโชค คือ   สลากที่บรรจุข้าวของเงินทองที่มีราคาสูงพอสมควร  สลากก๋วยเล็ก หรือสลากอิ้ง จะใส่ผลไม้ที่เป็นข้าวสังส์ดิบเพื่ออุทิศไปให้แก่ผู้ตายหรือทำบุญเพื่อเป็นกุศลในภายหน้าสลากก๋วยใหญ่ใช้ถวายเป็นมหากุศลสำหรับบุคคลผู้มีกำลังศรัทธาและร่ำรวยเงินทองทำถวายเพื่อเป็นพลวะปัจจัย  ให้มีกุศลมากยิ่งขึ้น    เนื่องมาจากค่านิยมที่สืบทอดมาช้านานคือ 
  1. ประชาชนว่างจากภาระกิจการทำนา 
       2. ประชาชนหยุดพักไม่เดินทางไกลเพราะเป็นฤดูฝน 
  3. พระสงฆ์จำพรรษาอยู่พร้อม 
  4. ผลไม้มีมากและกำลังสุก เช่น ส้มโอ ส้มเกลี้ยง กล้วย อ้อย ฯลฯ 
       5. ได้โอกาสสงเคราะห์คนยากจน เป็นสังฆทาน 
  6. ถือว่ามีอนิสงฆ์แรง คนทำบุญจะมีโชคลาภ 
  7. มีโอกาสหาเงินและวัสดุบำรุงวัด 
                                    
พิธีการ ตานก๋วยสลาก มี 2 วัน
  1. วันดา  หรือวันห้างดา คือก่อนวันทำพิธี “ตานก๋วยสลาก” 1 วัน เป็นวันจัดเตรียมสิ่งของเพื่อใส่ในก๋วยสลาก ผู้ชายจะตัดไม้มาจัดตอกสานก๋วย (ชะลอม) ไว้หลาย ๆ ใบตามแต่ศรัทธา และกำลังทรัพย์จะอำนวยให้ ฝ่ายหญิงจะจัดเตรียมสิ่งของที่จะนำบรรจุในก๋วยสลาก เช่น ข้าวสาร พริกแห้ง หอม กระเทียม เกลือ กะปิ น้ำปลา ขนม หมาก เมี้ยง บุหรี่ ไม้ขีดไฟ เทียนไข สีย้อมผ้า ผลไม้ต่าง ๆ เช่น ส้มโอ ส้มเกลี้ยง กล้วย อ้อย ฯลฯ ตลอดจน ข้าวนึ่ง (ข้าวสุก ห่อนึ่ง (ห่อหมก) ชิ้นปิ้ง ซึ่งจะนำมาใส่ในวันตานก๋วยสลาก รวมทั้งเครื่องใช้ต่าง ๆ ตามศรัทธาและฐานะแล้วบรรจุลงในก๋วยสลาก ที่กรุด้วยใบตองหรือใบหมากพู่หมากเมียง “ใส่ยอด” คือ ธนบัตร ผูกติดไม้ เสียบไว้ในก๋วยสลากให้ส่วนยอด หรือธนบัตรโผล่มา แล้วรวมปากก๋วยสลากตกแต่งด้วยดอกไม้ “ยอด” หรือธนบัตร ที่ใส่นั้นไม่จำกัดว่าเท่าใด แล้วแต่กำลังทรัพย์และศรัทธา ส่วนสลากโชคหรือสลากก๋วยใหญ่ของที่นำมาบรรจุในก๋วยเช่นเดียวกันกับสลากหน้อย แต่ปริมาณมากกว่าหรือทำพิเศษกว่า สมัยก่อนจะทำเป็นรูปเรือนหลังเล็กมีข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น หม้อข้าว หม้อแกง ถ้วยชาม เครื่องนอน เครื่องนุ่งห่ม อาหารสำเร็จรูปใส่ไว้ด้วย มีต้นกล้วยต้นอ้อยผูกติดไว้  ยอดหรือ ธนบัตร จะใส่มากกว่าสลากห้อย 
              ก๋วยสลากทุกอันต้องมี “เส้นสลาก” ซึ่งทำจากใบลานหรือปัจจุบันใช้กระดาษมาตัดเป็นแผนยาว ๆ เขียนชื่อเจ้าของไว้ และบอกด้วยว่าอุทิศ่วนกุศลไปให้ใครบ้าง เช่น “สลากข้าวซองนี้ หมายมีผู้ข้า นางวนิดา  สมุทรอาลัย  ขอทานไว้กับตนตัวภายหน้า” หมายถึง ถวายทานไว้เพื่อเป็นกุศลสำหรับตนเองเมื่อล่วงลับไปแล้ว หรือ “สลากข้าวซองนี้ หมายมีผู้ข้านางวนิดา สมุทรอาลัย ขอทานไปถึงนางสุณีย์  ผู้เป็นแม่ที่ล่วงลับไปแล้ว ขอหื้อไปรอดไปถึงจิมเต่อ” หมายถึง อุทิศส่วนบุญกุศลไปให้ญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว ในวันดาสลาก จะมีญาติพี่น้อง เพื่อนฝูงจากหมู่บ้านต่าง ๆ ที่รู้จักมาร่วมทำบุญ ฮอมเงินหรือนำผลไม้ กล้วย อ้อย ฯลฯ มาร่วมด้วย และช่วยจัดเตรียมสิ่งของใส่ก๋วยสลาก เจ้าภาพต้องเลี้ยงดูอาหาร-เหล้าและขนม 
             2. วันตานสลาก ชาวบ้านจะนำก๋วยสลากที่จัดทำแล้วไปที่วัด และเอา “เส้นสลากทั้งหมดไปร่วมกันที่หน้าพระประธานในวิหาร จะมีการฟังเทศน์อย่างน้อย 1 กัณฑ์ ผู้รวบรวมสลากมักเป็น มัคทายก  จะนำเส้นสลากทั้งหมดปะปนกันแล้วจัดแบ่งเส้นสลากทั้งหมดเป็น 3 ส่วน (กอง) ส่วนหนึ่งเป็นของพระเจ้า (คือของวัด) อีก 2 ส่วน เฉลี่ยออกไปตามจำนวนพระภิกษุสามเณรที่นิมนต์มาร่วมในงานทำบุญ หากมีเศษเหลือมักจะปัดเป็นของพระเจ้า (วัด) ทั้งหมดส่วนของพระเจ้านี้ผู้เป็นเจ้าของสลากต้องนำมาถวายแก่วัด ลาภผลทั้งหมดถือเป็นการบำรุงวัด พระภิกษุสามเณร เมื่อได้รับส่วนแบ่งแล้ว จะยึดเอาชัยภูมิแห่งหนึ่งในวัดและออกสลากคืออ่านชื่อในเส้นสลากดัง ๆ หรือให้ลูกศิษย์ (ขะโยม) ที่ได้ตระโกนตามข้อความที่เขียนไว้ในเส้นสลากหรือเปลี่ยนเป็นคำสั้น ๆ เช่น “ศรัทธาหนานใจ วงศ์บ้านเหนือวัดมีนี่เน้อ” บางรายจะหิ้ว “ก๋วย “ไปตามหาเส้นสลากของตนตามลานวัด เมื่อพบเส้นสลากของตนแล้ว จะเอาก๋วยสลากถวายพระพระจะอ่านข้อความในเส้นสลากและอนุโมทนาให้พร แล้วคืนเส้นสลากนั้นให้เจ้าของสลากไป เจ้าของสลากจะนำเอาเส้นสลากไปรวมไว้ในวิหาร เมื่อเสร็จแล้ว มัคทายก จะนำเอาเส้นสลากนั้นไปเผาไฟหรือทิ้ง


                                    คำเขียนในใบตานสลาก

1.  สลากเล็ก   
เจตนาศรัทธาหมายมีนาย ………  หาได้สลากข้าวซองนี้แล้วจักตานไปหายังพ่อ ……ขอให้ได้กินได้บริโภค  ในวันนี้ยามนี้แต้ดีหลี
2.  สลากใหญ่
อิมินา  เจตนาสลากข้าว …………  
3.   สลากโจ๊ก  และสลากสร้อย
สุทินนัง  วะตาเมตานัง  สลากภัตตานัง  มหาสลากภัตตานัง  หมายมีนาย  …………..จัดหาได้สลากภัตเรียวหนึ่งแล้วพร้อมของไทยทานตั้งหลาย  เพื่อจักอุทิศส่วนกุศลผลบุญตานไปหายังพ่อ – แม่  …………  ขอให้ได้กิน ได้บริโภค วันนี้ยามนี้แต้ดีหลี
  
คำถวายตานสลาก

                            (นะโม   3  จบ)

  อิมานิ  มะยัง  สลาก  ภตตานิ
  สปริวารานิ  ภิกขุ  สงฆํสส  โอโณชยามะ
  สาธุโนภัณเต  ภิกขุ  สง  โฆ
  อิมานิ  สลากภต  ตานิ  สปริวารานิ 
  ปฏิคัณ  หาตุ  กณ  เจวะญาต  ภา  นศจ
  ทีฆา  รตติ  หิตาย  สุขายะ

ข้าแด่พระสงฆ์ผู้เจริญ  ข้าพเจ้าทั้งหลาย  ขอน้อมถวายสลากภัตทานกับทั้งบริวารเหล่านี้  แก่พระสงฆ์  ขอพระสงฆ์จงรับซึ่งสลากภัตทาน  กับทั้งบริวาร  ของข้าพเจ้าทั้งหลายนี้  เพื่อประโยชน์  และความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายด้วย  แก่ญาติมิตรสหายของข้าพเจ้าด้วย  สืบกาลนานเทอญ   

พระสงฆ์จะเดินไปรับสลากตามจุดที่ประชาชนอยู่เป็นหมวดๆพระสงฆ์อ่านใบสลาก  ถวายสลากภัต  กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศล พระสงฆ์อนุโนทนา เสร็จพิธี

ประโยชน์ของภูมิปัญญา

  1. เป็นการสร้างความสามัคคีกันของคนในหมู่บ้านใกล้เคียง
  2. เป็นการแสดงความกตัญญูต่อญาติมิตรที่ล่วงลับไปแล้ว 
  3. เป็นการบริจาคทานที่ถือว่ามีอนิงสงฆ์มาก 
  4. เป็นการหาเงินและวัสดุมาบูรณะปฏิสังขรณ์วัด
ในการจัดงาน”ตานก๋วยสลาก” ควรจะมีการจัดแบบประหยัด ไม่จัดงานเลี้ยงเอิกเกริก หรือฆ่าสัตว์ใหญ่ เพื่อประกอบอาหารเลี้ยงญาติและแขก ควรจะจัดโดยยึดประเพณีดั้งเดิม คือเน้นการทำบุญมากกว่าการกินเลี้ยง สรรค์สรร 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ขอขอบพระคุณที่กรุณาแสดงความคิดเห็น